กลากน้ำนม

กลากน้ำนม หรือ เกลื้อนน้ำนม (Pityriasis alba) หรืออาจเรียกว่า “โรคด่างแดด” เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีที่ชั้นหนังกำพร้าไม่สามารถสร้างเม็ดสีได้ตามปกติ ทำให้ผิวหนังส่วนนั้นจางลงกลายเป็นวงด่างขาว

กลากน้ำนมเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มักพบในเด็กวัยตั้งแต่อายุประมาณ 3-16 ปี (ประมาณ 90% ของผู้ป่วยจะมีอายุน้อยกว่า 12 ปี) สามารถพบได้ทั้งในเด็กชายและเด็กหญิง ส่วนเด็กที่มีอายุน้อยกว่านี้หรือผู้ใหญ่ก็อาจเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน

IMAGE SOURCE : www.clinicaladvisor.com, healthh.com, diseasespictures.com, www.dermatocare.com, www.mdpi.com, healthh.com

สาเหตุของกลากน้ำนม

กลากน้ำนมเกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี (Melanocyte) ที่ชั้นหนังกำพร้าไม่สามารถสร้างเม็ดสี (Pigment) ได้ตามปกติ จึงทำให้ผิวหนังในส่วนนั้นกลายเป็นรอยด่างขาว ส่วนสาเหตุที่ทำให้เซลล์สร้างเม็ดสีเกิดความผิดปกตินั้นในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากการแพ้ลมหรือแพ้แสงแดด การติดเชื้อแบคทีเรีย ภาวะขาดอาหาร การผิดอาหาร สบู่ที่มีด่างมากและน้ำเหลืองเสีย หรืออาจเกิดจากเชื้อที่เกิดออกมาพร้อมกับน้ำมูกหรือน้ำใส ๆ ที่ออกมาทางจมูก และมักพบในคนที่มีพันธุกรรมเป็นโรคภูมิแพ้ (Atopic dermatitis) ซึ่งจะทำให้ผิวหนังมีภาวะที่ไวต่อลมและแสงแดด

อาการของกลากน้ำนม

ในระยะเริ่มแรกรอยโรคจะเกิดเป็นจุดแดงเล็ก ๆ ก่อน (ในระยะนี้อาจมีอาการคันที่ผื่นได้ และผู้ป่วยอาจไม่ทันได้สังเกตเห็น) แล้วจุดแดงนี้จะแผ่ขยายเป็นวงสีแดงหรือสีชมพูจาง ๆ ขนาดตั้งแต่ 0.5-4 เซนติเมตร มีขุยบาง ๆ ต่อมาจะจางลงทำให้เห็นเป็นวงสีขาว ๆ มีขุยบาง ๆ ติดอยู่ (ถ้าใช้เล็บขูด หรือเมื่อดูให้ดีหรือใช้แว่นขยายส่องดูจึงจะเห็นมีขุยขาว ๆ บาง ๆ ติดอยู่) โดยรอยโรคจะมีลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรี ขอบเขตไม่ชัดเจน ขอบมักจะค่อย ๆ กลืนไปกับสีผิวหนังปกติ (รอยด่างขาวจะเห็นได้ชัดตรงกลาง แล้วจางออกไปทางส่วนริม จึงทำให้ขอบของวงดูไม่ชัดเจน และในคนผิวคล้ำวงขาวของกลากน้ำนมจะเห็นได้ชัดมากกว่าในคนผิวขาว) ซึ่งผู้ป่วยจะไม่มีอาการคันหรือเจ็บแต่อย่างใด

โดยอาการมักจะเป็นมากในหน้าร้อน หรือหลังจากตากแดดตากลม (อากาศที่แห้งจะทำให้รอยโรคปรากฏชัดเจนมากขึ้น) และวงด่างขาวนี้มักจะเป็นอยู่นานแรมเดือนแรมปี หรือเป็น ๆ หาย ๆ จนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ก็มักจะหายไปได้เอง
สำหรับตำแหน่งที่พบบ่อย คือ บริเวณใบหน้า เช่น แก้ม รอบปาก หรือหน้าผาก แต่ในบางรายอาจพบกลากน้ำนมได้ที่บริเวณลำคอ ไหล่ ลำตัว หน้าอก หลัง แขน และขาได้เช่นกัน

นอกจากนี้ โรคกลากน้ำนมยังพบได้มากขึ้นในเด็กที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง/ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (Atopic dermatitis) และถือว่ากลากน้ำนมเป็นอาการแสดงรูปแบบหนึ่งของโรคนี้

การวินิจฉัยกลากน้ำนม

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากประวัติอาการของผู้ป่วย และจากการตรวจร่างกายบริเวณที่เป็นรอยโรค แต่หากมีข้อสงสัยต้องแยกจากโรคกลากหรือโรคเกลื้อน แพทย์จะทำการขูดรอยโรคเพื่อส่งตรวจหาเชื้อราที่ก่อโรคดังกล่าว

วิธีรักษากลากน้ำนม

  1. หากมีผื่นผิดปกติเกิดขึ้นที่บริเวณใบหน้าหรือบริเวณอื่น ๆ ผู้ปกครองสามารถพาเด็กไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับคำแนะนำเพิ่มเติมได้
  2. ถ้าพบว่าเป็นกลากน้ำนมจริง แพทย์จะให้ทาด้วยครีมสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ความเข้มข้นต่ำ เช่น ครีมไตรแอมซิโนโลน อะเซโทไนด์ 0.02% (TA / Triamcinolone acetonide 0.02% cream), ครีมไฮโดรคอร์ติโซน 1-2% (Hydrocortisone 1-2% cream) โดยให้ทาวันละ 1-2 ครั้ง ในระยะเวลาที่จำกัดภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน (เช่น ผิวหนังส่วนที่ทายาบางลง อักเสบ แตกเป็นแผลได้ง่าย เกิดขนขึ้นมากผิดปกติทำให้ขาดความสวยงามไป หรือยาอาจถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเข้าไปกดการทำงานของต่อมหมวกไต เป็นต้น)
    • การทาด้วยครีมสเตียรอยด์นี้อาจใช้เวลาเป็นเดือน ๆ กว่าจะหาย (บางรายอาจได้ผล แต่บางรายอาจจะไม่ได้ผล) หรือบางรายอาจหายได้เองโดยไม่ต้องทาครีมสเตียรอยด์ก็ได้ ถ้าหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและปฏิบัติตามคำแนะนำในข้อ 5
    • ห้ามใช้ครีมสเตียรอยด์ความเข้มข้นสูงหรือชนิดที่แรง ๆ เพราะอาจทำให้ผิวหนังเป็นรอยด่างขาวจากยาได้ ซึ่งจะรักษาให้หายได้ยาก
    • ห้ามซื้อยาทาประเภทแสบร้อนหรือขี้ผึ้งเบอร์ต่าง ๆ มาใช้ทา เพราะอาจทำให้หน้าไหม้เกรียม หรือหนังแห้งเป็นผื่นดำได้
  3. ถ้าหากแยกกันไม่ออกระหว่างกลากน้ำนมกับเกลื้อน ให้ลองรักษาแบบเกลื้อนดูก่อน หรือถ้าใช้ครีมสเตียรอยด์ทาแล้วรอยโรคกลับลุกลามมากขึ้นก็อาจเป็นเกลื้อนได้ ควรหยุดยาสเตียรอยด์ และให้ใช้ยาฆ่าเชื้อรารักษาเกลื้อนแทน
  4. คุณแม่บางท่านเชื่อว่าการใช้สำลีชุบน้ำนมแม่นำมาเช็ดบริเวณที่เป็นรอยโรคให้ลูกทุกวัน หรือการใช้ดอกมะลิแช่เย็นและนำมาขยี้เบา ๆ ใช้ถูบริเวณที่เป็นรอยโรค ร่วมไปกับการรักษาความสะอาดต่าง ๆ ให้ดี เช่น การใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดเบา ๆ การเปลี่ยนเสื้อ เปลี่ยนผ้าเช็ดหน้า หรือผ้ากันเปื้อนบ่อย ๆ จะช่วยให้รอยด่างขาวจางลงและหายไปได้เร็วขึ้น (ถ้าถามหมอ หมอจะแนะนำให้เน้นการปฏิบัติตามคำแนะนำในข้อ 5 จะดีกว่าครับ เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่า กลากน้ำนมเกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีไม่สามารถสร้างเม็ดสีได้ตามปกติ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคหรือเชื้อราแต่อย่างใด)
  5. สำหรับการดูแลตนเองในระหว่างที่เป็นกลากน้ำนม ควรปฏิบัติดังนี้
    • หลีกเลี่ยงแสงแดด พยายามอย่าตากแดดตากลมมากนัก เช่น ถ้าเคยเล่นกีฬาตอนแดดจัด ก็ให้เลื่อนมาเล่นตอนไม่มีแดด คือ ช่วงเช้าตรู่หรือตอนเย็นแทน และถ้าต้องโดนแดดก็ควรทาครีมกันแดดก่อนออกแดดด้วยทุกครั้ง โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นรอยโรค (ส่วนการว่ายน้ำก็มีส่วนทำให้กลากน้ำนมเป็นวงด่างขาวชัดเจนและลามมากขึ้นได้ จึงควรว่ายน้ำในช่วงเวลาเย็น ๆ หรือตอนเช้าซึ่งแดดไม่จัดนัก)
    • ควรทาครีมบำรุงผิว (Moisturizer) เป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณรอยโรค
    • การอาบน้ำหรือการล้างทำความสะอาดบริเวณที่เป็นรอยโรค ควรใช้สบู่อ่อน ๆ เช่น สบู่เหลว สบู่เด็ก หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวสำหรับเด็กอ่อน
    • อาบน้ำอุณหภูมิปกติหรืออุ่นพอประมาณ ไม่อุ่นมากจนเกินไป
    • การใช้เครื่องสำอางกับผิวบริเวณที่เป็นโรค ควรใช้เครื่องสำอางชนิดไม่แพ้และชนิดอ่อนโยนต่อผิวหนัง

ข้อควรรู้เกี่ยวกับกลากน้ำนม

  • โรคนี้อาจเป็นเรื้อรังหรือเป็น ๆ หาย ๆ นาน 1-2 ปี แต่จะไม่มีอันตรายหรือผลข้างเคียงแต่อย่างใด ยกเว้นปัญหาในด้านความงามและภาพลักษณ์ และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วกลากน้ำนมมักจะหายไปได้เอง (แต่บางคนอาจเป็นโรคนี้ได้เมื่อโตแล้ว ทั้งนี้เป็นเพราะผิวหนังเพิ่งจะเกิดปฏิกิริยากับสาเหตุหรือสิ่งกระตุ้นในระยะนั้น ๆ)
  • โรคนี้เป็นโรคที่หายได้เองและจะไม่ทิ้งรอยด่างหรือแผลเป็นเอาไว้ แต่ก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก (มักจะหายได้เองภายในเวลาเป็นเดือนหรือหนึ่งปี)
  • โรคนี้ไม่สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้ เพราะไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคหรือเชื้อราแต่อย่างใด
  • โรคนี้ไม่ได้เกี่ยวกับน้ำนมหรือเกิดจากการกินนมหกเลอะเทอะเรี่ยราดแต่อย่างใด แต่ที่เรียกว่า “กลากน้ำนม” หรือ “เกลื้อนน้ำนม” นั้น เป็นเพราะว่ามักจะพบโรคนี้ในระยะที่เด็กกินนม และรอยโรคมีลักษณะคล้ายกับน้ำนมแห้งติดอยู่ที่แก้ม
  • โรคนี้ต่างจากเกลื้อนตรงที่เกลื้อนจะเกิดรอยโรคขึ้นที่บริเวณหลัง คอ และหน้าอก และพบได้มากในคนวัยหนุ่มสาวที่มีเหงื่อออกมาก แต่กลากน้ำนมนั้นจะเกิดมากที่ใบหน้า และพบได้มากในเด็กไปจนถึงวัยหนุ่มสาว
  • เมื่อรักษาแล้ว ขุยบาง ๆ มักจะหายไป แต่รอยขาวอาจจะเหลืออยู่บนผิวหนังได้อีกเป็นเวลานาน
  • ที่บอกว่าไม่ควรใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานานหรือใช้แบบแรง ๆ ก็เป็นเพราะว่า โรคนี้มักจะเป็น ๆ หาย ๆ และถ้าใช้บ่อย ๆ หรือใช้มาก ๆ ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาด้วย ซึ่งผลข้างเคียงนี้ก็มีหลายอย่างเสียด้วยดังที่กล่าวมาแล้ว
  • โรคนี้เมื่อไม่โดนแดดจัด ๆ รอยโรคจะค่อย ๆ จางลงเอง ผู้ป่วยอาจใช้ครีมบำรุงผิวทาเพื่อให้เกิดความชุ่มชื้น หรือทาครีมสเตียรอยด์อย่างอ่อนก็จะช่วยให้รอยโรคจางลงได้เร็วขึ้น

วิธีป้องกันกลากน้ำนม

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันกลากน้ำนม เพราะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจลดโอกาสในการเกิดได้ด้วยการปฏิบัติดังนี้

 

  • หลีกเลี่ยงแสงแดด พยายามอย่าตากแดดตากลมมากนัก และทาครีมกันแดดทุกครั้งเมื่อต้องออกแดด
  • รักษาผิวให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอด้วยการใช้ครีมบำรุงผิวหลังการอาบน้ำทุกครั้ง และควรระวังอย่าให้เกิดภาวะผิวแห้ง
  • ใช้สบู่และเครื่องสำอางชนิดอ่อนโยนต่อผิว เช่น สบู่เด็ก
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “กลากน้ำนม (Pityriasis alba)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 1015-1016.
  2. หาหมอดอทคอม.  “กลากน้ำนม เกลื้อนน้ำนม (Pityriasis alba)”.  (พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [03 ธ.ค. 2016].
  3. เครือข่ายความร่วมมือบริการเภสัชสนเทศ.  “โรคกลากน้ำนม (Pityriasis alba)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : drug.pharmacy.psu.ac.th.  [03 ธ.ค. 2016].
  4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 4 คอลัมน์ : โรคผิวหนัง.  “กลากน้ำนม”.  (นพ.วิชนารถ เพรชบุตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [03 ธ.ค. 2016].
  5. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  “วิธีรักษากลากน้ำนม”.  (นพ.ประวิตร พิศาลบุตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [03 ธ.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย – www.medthai.com

You may also like...

error: Content is protected !!